Waraku รสชาติญี่ปุ่นแท้ แต่ต่างที่ความคิด

ผู้คนนิยมรับประทานอาหารญี่ปุ่นด้วยเหตุผลที่ต่างกัน บางคนชอบความอร่อยแบบดั้งเดิมด้วยรสชาติที่ละเมียดละไม รูปลักษณ์ที่เรียบง่ายแต่สะท้อนถึงความพิถีพิถัน บางคนชอบการปรุงแต่งที่น่าตื่นตา การผสมผสานวัตถุดิบแปลกใหม่เข้าด้วยกัน Waraku Japanese Casual Dining คือคำตอบที่ลงตัวของทั้งสองด้าน ด้วยการนำเสนออาหารญี่ปุ่นดั้งเดิมในมุมที่แตกต่างและโดดเด่นกว่าเคย

Waraku Japanese Casual Dining มี 24 สาขาทั้งในสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมทั้งในไทยที่ คุณวงศกร วงค์เทววิมาน และหุ้นส่วนซื้อมาสเตอร์แฟรนไชส์มาบริหารจัดการ โดยปัจจุบัน Waraku Japanese Casual Dining ในประเทศไทยมี 3 สาขา ได้แก่ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ที่เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า และที่เซ็นทรัลแกรนด์ พระราม 9 “เราซื้อโมเดลของเขามา ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ แบรนด์ หรือลักษณะการตกแต่งร้าน โดยที่คนทำงานเป็นทีมของเราเอง” คุณวงศกรกล่าว

ตัวอักษร “” (wa) ในชื่อของร้านหมายถึงความสงบสุข (peace) ขณะที่ “” (raku) หมายถึงความกลมกลืนลงตัว (harmony) ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของแฟรนไชส์ต้องการให้ลูกค้าสัมผัสได้ตั้งแต่เข้ามาในร้านจนกระทั่งรับประทานอาหาร คุณวงศกรนิยามอาหารที่ Waraku ว่าเป็นอาหารแบบเกียวโตโบราณ ซึ่งแตกต่างจากร้านอาหารญี่ปุ่นสมัยใหม่ตรงที่ใช้วัตถุดิบและองค์ประกอบจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อย่างบนใบไม้ หม้อไฟที่ทำจากกระดาษ ช้อนที่ทำจากไม้ หรือการเสิร์ฟอาหารบนชามหินร้อน โดยพยายามคงรสชาติญี่ปุ่นแท้ๆ เอาไว้

“ที่เราสนใจใช้แฟรนไชส์ของ Waraku ก็เพราะมองว่า Waraku มีคอนเซปต์ที่แตกต่างจากแฟรนไชส์อื่นๆ ในไทย”

คอนเซปต์ Casual Dining ของทางร้านนั้นเกิดจากความต้องการเป็น Fine Dining ในราคาที่คนทั่วไปเอื้อมถึงได้ มีเมนูที่ หลากหลาย ทำจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เสิร์ฟในบรรยากาศที่เป็นเอง ไม่ถึงขั้นโรงแรมหรือร้านอาหารหรูๆ โดยคุณวงศกรและหุ้นส่วนพยายามตั้งราคาและหาจุดขายให้เทียบเท่ากับคู่แข่งอย่าง Fuji หรือ Zen ที่มีอาหารให้เลือกหลากหลายเช่นเดียวกัน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนเดินห้างฯ ตั้งแต่ระดับบนถึงระดับล่างเข้าถึงได้

“การซื้อมาสเตอร์แฟรนไชส์ดีอยู่อย่างคือเรามีอิสระที่จะใส่ไอเดียลงไปพลิกแพลงอะไรได้บ้าง เช่น อาหารที่ขาย ในช่วงปีแรกเราใช้เมนูอาหารตามต้นฉบับของแฟรนไชส์เลย แต่หลังจากนั้นเราก็พัฒนาเมนูขึ้นมาเรื่อยๆ 4 ปีที่เปิดมา เราก็พยายามปรับเมนูปีละครั้ง หรือปีครึ่งต่อหนึ่งครั้ง โดยแต่ละเดือนเราจะมีเมนูพิเศษ ตอนเทศกาลอาหารเจ เราก็ทำเมนูเจออกมา” คุณวงศกรกล่าว

เมนูที่เป็นที่นิยมของที่นี่คือ บีฟ/พอร์ค ชิเกะ ราเม็ง และซีฟู้ด คามินาเบะ ซึ่งเป็นหม้อไฟซีฟู้ดและผัก เสิร์ฟในหม้อกระดาษที่มีส่วนผสมจากใยหิน จึงไม่ไหม้แม้เผาไฟ รวมไปถึงอุด้งชามยักษ์ที่เป็นหน้าเป็นตาของทางร้าน เพราะหลายๆ คนอดไม่ได้ เห็นแล้วต้องถ่ายรูปตามขนบชาวโซเชียลทุกครั้ง

“ที่นี่มี slogan ว่า Think Udon, Think Waraku เพราะเราต้องการเปิดตลาดสำหรับเส้นอุด้ง ที่ผ่านมาคนไทยไม่ชอบเส้นอุด้งเนื่องจากเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดี เราอยากให้คนไทยได้ลิ้มลองเส้นอุด้งที่อร่อยอย่างแท้จริงและเปลี่ยนความคิดจากแต่ก่อน เลยใช้เส้นที่สั่งทำเป็นพิเศษจากโรงงานในญี่ปุ่นที่ทำสัญญาว่าจะผลิตและขายให้กับเราที่เดียวเท่านั้น เมื่อลองกัดก็จะรู้สึกถึงความนุ่มหนึบเคี้ยวเพลิน เป็นเส้นอุด้งที่’สู้ฟัน’ กินอร่อยเต็มปากเต็มคำ ล่าสุดแชมป์อุด้งจากรายการทีวีแชมเปี้ยนก็ได้ให้เกียรติมากินที่ร้าน ด้วยความที่อุด้งของเราไม่เหมือนที่อื่น แม้กระทั่ง Waraku ที่สาขาต่างประเทศก็ยังแตกต่าง”


นอกจากเส้นอุด้งแล้ว วัตถุดิบหลายอย่างในร้านก็นำเข้ามาจากญี่ปุ่นด้วย “เราไม่อยากหลอกคนกิน อย่างน้ำซุปที่ทางร้านใช้ก็เป็นน้ำซุปที่เคี่ยวจากวัตถุดิบจริงๆ ต่างจากบางร้านที่ใช้ซุปผง หรือบางร้านก็เอาปลาไหลจีนมาหลอกว่าเป็นปลาไหลญี่ปุ่น สำหรับเราวัตถุดิบที่สำคัญๆ จะนำเข้ามาเท่านั้น เพราะคุณภาพคือสิ่งสำคัญ” เขากล่าว

“เครื่องปรุงรสก็เช่นกัน เวลาที่เราพัฒนาสูตร เปรียบไปก็เหมือนผู้ชายเจ้าชู้ เราเลือกเครื่องปรุงรสเป็นสิบๆ อย่าง เพื่อให้ได้เครื่องปรุงที่ดีที่สุด ซุปราเม็งหรืออุด้งที่เป็น signature ของเราก็ใช้เมนทซึยุของอายิโนะโมะโต๊ะ หลังจากที่ลองผิดลองถูกมาหลายอันจนมั่นใจว่าเหมาะกับสูตรของเราที่สุด”

เพราะการสร้างความแตกต่างให้กับอาหารต้องอาศัยลูกเล่นแปลกใหม่และไอเดียที่น่าสนใจ แต่การคงรสชาติที่แท้จริงนั้นอยู่บนพื้นฐานของการใส่ใจเลือกวัตถุดิบเป็นสำคัญ ความแตกต่างทางความคิดเพียงอย่างเดียวเท่านั้นไม่อาจรักษาลูกค้าไว้อย่างยาวนานได้